หมวดหมู่ : ข่าวสารทั่วไป
หัวข้อ : "สภาเกษตรกรฯ ยโส ร่วมขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน"
โดย : admin
อ่าน : 2776
จันทร์ ที่ 11 เดือน มิถุนายน พ.ศ.2561
พิมพ์ 

นายชาญณรงค์ อรศรี ประธานสภาเกษตรกรจังหวัดยโสธร พร้อมด้วยนายคงศักดิ์ ปวงสุข สมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดยโสธร (ประธานนาแปลงใหญ่จังหวัดยโสธร) และนายพรชัย สมขาว นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ ร่วม "สัมมนาเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน จังหวัดยโสธร" เมื่อวันที่ 16-17 พฤษภาคม 2561 ณ วนอุทยานภูสิงห์-ภูผาผึ้ง ตำบลสร้างนกทา อำเภอเมืองอำนาจเจริญ จังหวัดอำนาจเจริญ

นายธีระ วงษ์เจริญ ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร) เปิดเผยว่าตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) กำหนดเป้าหมาย/ ตัวชี้วัดที่สำคัญคือให้มีการเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนเป็น 5,000,000 ไร่ ในปี 2564 สนับสนุนให้มีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตจากพืชเชิงเดี่ยวไปสู่เกษตรกรรมยั่งยืน อาทิ เกษตรธรรมชาติ เกษตรผสมผสาน เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร และเกษตรทฤษฎีใหม่ โดยมอบหมายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินการ ซึ่งตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) ซึ่งกำหนดไว้ 17 เป้าหมาย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบต่อเป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการ และส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน ซึ่งใน เป้าประสงค์ที่ 2.4 กล่าวถึงการสร้างหลักประกันว่า จะมีระบบการผลิตอาหารที่ยั่งยืนและดำเนินการตามแนวปฏิบัติทางการเกษตรมีภูมิคุ้มกันที่จะเพิ่มผลิตภาพและการผลิตที่จะช่วยรักษาระบบนิเวศ เสริมขีดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ ภาวะอากาศรุนแรง ภัยแล้ง อุทกภัยและภัยพิบัติ และเป้าประสงค์ที่ 2.4 คงความหลากหลายทางพันธุกรรมของเมล็ดพันธุ์พืชที่ใช้เพาะปลูก สัตว์ในไร่นา และสัตว์ที่เลี้ยงตามบ้านเรือน และชนิดพันธุ์ตามธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับพืชและสัตว์เหล่านั้น รวมถึงให้มีธนาคารเมล็ดพันธุ์ที่มีการจัดการที่ดีและมีความหลากหลาย ทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับนานาชาติ และสร้างหลักประกันว่าจะมีการเข้าถึงและแบ่งปันรูปแบบของเกษตรกรรมยั่งยืน จากกการประมวลและพิจารณาจากข้อเท็จจริงในปัจจุบันมีดังนี้ 1) เกษตรธรรมชาติ  2) เกษตรอินทรีย์ 3) วนเกษตร 4) เกษตรทฤษฎีใหม่ 5) เกษตรผสมผสาน และ 6) อื่นๆ เช่น ไร่หมุนเวียน การปลูกพืชหลังนา การปลูกสลับ การทำประมงชายฝั่งพื้นบ้าน การทำเกษตรกรรมยั่งยืนตามชุดอุดมการณ์

     นายสมเพชร สร้อยสระคู รองผู้ว่าราชการจังหวัดยโสธร กล่าวว่า ภาคการเกษตรถือว่าเป็นฐานการผลิตที่สำคัญของประเทศ แต่ปัจจุบันพบว่าภาคการเกษตรยังคงประสบปัญหาหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งความเสื่อมโทรมของฐานทรัพยากรธรรมชาติ ที่มีสาเหตุจากการใช้ประโยชน์ทรัพยากรอย่างต่อเนื่อง ไม่มีการอนุรักษ์ ฟื้นฟู บำรุงรักษา โดยพบว่าเกษตรกรทำการผลิตในลักษณะเชิงพาณิชย์ เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด ก่อให้เกิดความเสื่อมโทรมของดิน น้ำ สภาพแวดล้อม และระบบนิเวศ ปัญหาดังกล่าว เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประสิทธิภาพการผลิตในภาคเกษตรลดลง จึงเพิ่มปริมาณการใช้ปุ๋ยเคมีมากขึ้น ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้ใช้แล้ว ยังทำให้ต้นทุนของเกษตรกรสูงขึ้นด้วย ผลที่ตามมาคือเกษตรกรประสบกับภาวะขาดทุน มีรายได้ไม่คุ้มรายจ่าย เกิดหนี้สินและคุณภาพชีวิตลดต่ำลง ปัญหาเหล่านี้เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ภาคการเกษตรของไทยอ่อนแอ ขาดความมั่นคง และพึ่งพาตนเองได้น้อย อย่างไรก็ตาม รัฐบาลได้มีนโยบายที่จะส่งเสริมการทำเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว เพื่อผลักดันให้ประเทศไทยมุ่งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ตลอดจนสร้างความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งแก้ไขปัญหาและยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน  ทั้งนี้ จังหวัดยโสธร ได้มีแนวทางส่งเสริมการผลิตเกษตรอินทรีย์มาตั้งแต่ ปี 2548 และมีการเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป้าหมายในการเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ของจังหวัดยโสธร ต้องการเพิ่มพื้นที่เกษตรอินทรีย์ เป็น 250,000 ไร่ ในปี 2564 รวมทั้งได้มีการส่งเสริมเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน ด้วยการสนับสนุนงบประมาณจากงบปกติของส่วนราชการ งบพัฒนาจังหวัด และงบพัฒนากลุ่มจังหวัด ซึ่งสอดคล้องกับการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ที่ต้องการเพิ่มพื้นที่ เกษตรธรรมชาติ เกษตรอินทรีย์ วนเกษตร เกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรผสมผสาน และอื่นๆ รวมทั้งการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน ยังสอดคล้องกับการขับเคลื่อนวาระ 4 ดี ของจังหวัดยโสธรด้วย

ด้านนายวุฒิ สุธารักษ์ นักวิเคราะห์นโยบายและแผนชำนาญการ รักษาราชการแทนเกษตรและสหกรณ์จังหวัดยโสธร กล่าวเพิ่มเติมว่า จากการดำเนินงานของจังหวัดยโสธรในที่ผ่านมา การบูรณาการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืน เพื่อให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมที่จะตอบสนองต่อเป้าหมายการพัฒนาเกษตรกรรมยั่งยืน และเป้าหมายของการพัฒนาที่ยั่งยืน ทั้งเชิงปริมาณและคุณภาพ ยังไม่เห็นผลที่ชัดเจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานในรูปแบบของการบูรณาการที่แท้จริงระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน เครือข่ายเกษตรกร องค์กรพัฒนาเอกชน สถาบันการศึกษา และภาคีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การขับเคลื่อนระบบเกษตรกรรมยั่งยืนของจังหวัดยโสธร บรรลุผลตามเป้าหมายของแผนชาติ  และจังหวัดยโสธร เป็น 1 ใน 21 จังหวัดนำร่อง จึงได้จัดทำโครงการประชุมสัมมนาเชิงปฏิบัติการการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนขึ้น ซึ่งผู้เข้าประชุมสัมมนาในครั้งนี้ ประกอบด้วย ผู้แทนจากส่วนราชการ ปราชญ์ชาวบ้าน เกษตรกรอินทรีย์ เกษตรกรรุ่นใหม่ ภาคประชาสังคม สถานศึกษา รวมทั้งสิ้น 60 คน

นายชาญณรงค์ อรศรี ประธานสภาเกษตรกรตังหวัดยโสธร กล่าวหลังการประชุมว่าเป็นเรื่องที่ดี ที่สภาเกษตรกรจังหวัดยโสธรได้มีโอกาสเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมนี้ โดยสภาเกษตรกรฯ เราได้มีการจัดเวทีรับฟังข้อมูล ข้อคิดเห็นจากเกษตรกรในพื้นที่ (ภายใต้โครงการจัดทำแผนพัฒนาเกษตรกรรมระดับตำบล และพัฒนาเป็นเกษตรอุตสาหกรรม) มาก่อนหน้านี้แล้ว ทั้งนี้ สภาเกษตรกรฯ จะถือเอาเวทีนี้เป็นสื่อสะท้อนสิ่งที่มาจากเกษตรกรในพื้นที่ และสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการบูรณาการขับเคลื่อนเกษตรกรรมยั่งยืนให้เกิดผลในเชิงประจักษ์ในการจัดทำฐานข้อมูล เพื่อเพิ่มพื้นที่เกษตรกรรมยั่งยืนของจังหวัดยโสธร ต่อไป


ภาพ : สนง.เกษตรและสหกรณ์จังหวัดยโสธร/พรชัย สมขาว

ข่าว  : พรชัย สมขาว นักวิเคราะห์นโยบายและแผนปฏิบัติการ

          สนง.สำนักงานสภาเกษตรกรจังหวัดยโสธร